wibiya widget

Sunday, October 23, 2011

Update ! [สรุปข่าวสั้น] ประจำ วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Update ! [สรุปข่าวสั้น] ประจำ วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[แนะนำให้เลื่อนอ่านดูหัวข้อข่าวที่สนใจนะครับ มีเนื้อหาที่เยอะพอสมควร]

กิตติรัตน์เล็งใช้อาคารคลังสินค้าจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า
22 ตค. 2554 23:02 น. 

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีสินค้าขาดแคลนในขณะนี้ว่า ตามชั้นวางสินค้าห้างใหญ่ที่เห็นว่าสินค้าขาดแคลนนั้น มีสาเหตุสองประการ คือ ความกังวลของผู้บริโภคที่เกรงว่าจะต้องซื้ออาหารเพื่อกักตุนโดยจะเห็นว่ารายการสินค้าแห้งจำนวนหนึ่งกับน้ำดื่มจะหมดไปแล้ว และศูนย์กระจายสินค้าในห้างต่างๆอยู่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเกิดปัญหาการขนส่งสินค้า

นายกิตติรัตน์กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้จัดเตรียมที่จะใช้พื้นที่อาคารคลังสินค้าท่าอากาศยานดอนเมืองพื้นที่ 3 หมื่นตารางเมตรในการจัดตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น กลุ่มเทสโก้โลตัส บิ๊กซี ซีพีออล โดยจะใช้เวลาขนส่งสินค้าภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อกระจายสินค้าไปยังห้างสรรพสินค้าต่างๆทั่วประเทศ ขณะที่สินค้าบางประเภทที่ประชาชนซื้อไปเป็นจำนวนมากซึ่งอาจจะผลิตไม่ทันแต่ขณะนี้ได้ประสานกับบริษัทต่างๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผู้ประกอบการก็ยืนยันแล้วว่าได้เพิ่มกำลังผลิต และพร้อมที่จะจัดส่งสินค้ามาให้ถึงมือผู้บริโภค

นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าต้องวางระบบให้ดี ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในวันจันทร์ที่ 24 ตุลาคมนี้ โดยเรามั่นใจว่าจะดูแลให้มีการนำสินค้าไปวางขายได้ตามชั้นวางสินค้าในห้างต่างๆ แต่ขอให้พี่น้องประชาชนจับจ่ายสินค้าด้วยความระมัดระวัง โดยมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมถึงอาคารคลังสินค้าที่จัดตั้งเป็นศูนย์ เพราะการจัดระบบป้องกันหรือแวร์เฮ้าส์ภายในสนามบินไว้ดีอยู่แล้ว

( มีต่อ กด Read More ข้างล่างจ้า )




ศปภ.แจงเหตุน้ำท่วมบางกระบือเพราะน้ำทะเลหนุนสูง
22 ตค. 2554 22:47 น. 

เมื่อเวลา 21.30 น. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา โฆษกศปภ. และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณะทำงานด้านภาพถ่ายทางดาวเทียม ได้แถลงข่าวสถานการณ์น้ำท่วมประจำวัน โดยพล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ มีพระมหากรุณาธิคุณมอบถุงพระราชทานไปมอบให้คนไทยที่ประสบภัย โดยเฉพาะจ.ปทุมธานีที่ประสบภัยใหญ่หลวง ซึ่งตอนนี้สี่เหล่าทัพตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าอ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี นำประชาชนออกมาได้หนึ่งหมื่นห้าร้อยคน แต่ประชาชนที่อยากกลับเข้าพื้นที่เพราะห่วงทรัพย์สินนั้น ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบเพื่อที่จะส่งเสบียงไปให้ แม้จะยังไม่ทั่วถึงก็ตาม ส่วนสถานที่พักพิงและสถานที่นำรถไปจอดไว้นั้น ศปภ.จัดเพิ่มเติมไว้ให้โดยควรโทรศัพท์มาสอบถามที่หมายเลข1111กด5

พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวต่อว่า สำหรับการจราจรในกทม.บางแห่งที่น้ำท่วมสูง รถเล็กผ่านไปไม่ได้ หากไม่จำเป็นอย่าผ่านไปโดยควรติดตามจากสื่อมวลชน ทั้งนี้รมว.คมนาคมได้สั่งการว่า ด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านตรวจพิเศษ รวมทั้งทางด่วนต่างๆบางด่านนั้น ยกเว้นค่าผ่านทางตั้งแต่เที่ยงคืนวันนี้ถึงสิ้นเดือนนี้เพื่อให้ประชาชนนำรถไปจอดได้

ขณะที่นายวิมแถลงว่า ในวันนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้ำท่วมย่านบางกระบือ ด้านโรงเรียนราชินีบน มีพนังกั้นน้ำพังและมีรอยรั่ว เพราะวันนี้แม่น้ำเจ้าพระยาได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงผิดปกติ ทำให้พนังกั้นน้ำไม่สามารถรับน้ำได้ ซึ่งขณะนี้ได้เสริมกระสอบทรายและยับยั้งการไหลของน้ำเข้าพื้นที่ได้แล้ว และประสานกทม.เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโดยเร็ว

นายวิมกล่าวอีกว่า สำหรับน้ำที่ไหลท่วมเขตดอนเมืองด้านเซียร์รังสิต สาเหตุเพราะคลองรังสิตมีรอยแตก 5 เมตร น้ำจึงไหลเข้าคลองเปรมประชากรและไหลมาเขตดอนเมือง ท่วมถนนวิภาวดีรังสิต สนามบินดอนเมืองตอนเหนือและเซียร์ รังสิต สูง 50 ซม. ศปภ.ได้สั่งให้ซ่อมพนังกั้นน้ำด้านนี้และใช้เวลาในคืนนี้ซ่อมแซมได้ จากนั้นมอบให้กทม.เร่งระบายน้ำต่อไป

นายวิมกล่าวต่อว่า ส่วนรายงานข่าวจากจ.ปทุมธานี ซอยใจเอื้อ ทางเข้าพระตำหนักจักรีบงกช ปรากฏว่าชาวบ้านคนหนึ่งลุยน้ำและน่าจะโดนกรดกำมะถันจากโรงงานแบตเตอรี่ในย่านนั้นจนเกิดแผลพุพอง ศปภ.สั่งตรวจสอบและเตรียมสั่งย้ายกรดกำมะถันดังกล่าวแล้ว

ขณะที่นายอานนท์กล่าวว่า การตรวจสอบมวลน้ำในวันนี้ โดยมวลน้ำจากจ.อยุธยานั้น ผลการตรวจจากดาวเทียมไม่พบการเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำทรงตัวและลดลงเล็กน้อย การผันน้ำตามแนวทางของกรมชลประทานนั้นน่าจะได้ผลและขยายผลมากขึ้น ส่วนคลองรังสิตและคลองรังสิตประยูรศักดิ์จะลดการผันน้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาท่วมขังเขตดอนเมือง พื้นที่นี้ท่วมแบบเฉพาะจุดไม่ใช่ไหลบ่า ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ลมที่ปกคลุมประเทศเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกจากตะวันออกเฉียงเหนือ โดยฉุดตัวตามแรงหมุนของโลก น้ำเข้าอ่าวไทยตอนบนทำให้ระดับน้ำทะเลหนุนสูงและไม่สมดุลกับน้ำที่ไหลจากตอนบน แต่เหตุการณ์วันนี้จะเป็นแบบนี้เพียงสองวันเท่านั้น ย้ำว่าไม่เกี่ยวกับมวลน้ำจากภาคเหนือ เพราะตอนนี้ฝนในภาคเหนือหยุดตกแล้ว มวลน้ำในตอนนี้เป็นน้ำค้างทุ่งที่ค่อยๆระบายออกมา

นายอานนท์กล่าวว่า ส่วนฝั่งตะวันตกของกทม.นั้น มวลน้ำขนาดใหญ่ที่ผ่านจ.นนทบุรี จ.นครปฐม เข้าใกล้คลองมหาสวัสดิ์และทางรถไฟนั้น หากมวลน้ำมาถึงแนวนี้จะชะลอตัว บางส่วนยกตัว บางส่วนไหลลงคลองย่อยต่างๆ ก่อนลงมาคลองทวีวัฒนาและคลองภาษีเจริญ คณะทำงานพิจารณาว่า ต้องเพิ่มเครื่องสูบน้ำให้มากขึ้นในสองถึงสามวันข้างหน้า ฝั่งธนบุรี และอ.พุทธมณฑล จ.นครปฐมควรเตรียมรับระดับน้ำที่จะสูงขึ้น ขอย้ำว่าไม่ใช่การเตือนภัยแต่เป็นการแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมตัว


น้ำทะเลหนุนทำพิษทะลักแนวกั้นน้ำเจ้าพระยา
22 ตค. 2554 21:37 น. 

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. นายณรงค์ จิรสรรพคุณากร ผู้อำนวยการกองสารสนเทศระบายน้ำ สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงกรณีระดับน้ำเจ้าพระยาหนุนสูงฉับพลันในช่วงบ่ายที่ผ่านมาว่า กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ ได้แจ้งเตือนมายังกทม.ว่าระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่ภาวะปกติ และไม่ได้เกิดเฉพาะกทม. แต่เกิดตั้งแต่จ.สงขลา บริเวณริมฝั่งอ่าวไทยทั้งหมด สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว จะเป็นพื้นที่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวคันกั้นน้ำของพื้นที่เอกชน อาทิ บริเวณพระราม 7 ซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัท ซีแพค นอกจากนี้ ยังมีบริเวณท่าเขียวไข่กา สี่แยกบางกระบือ ถ.สามเสน และบริเวณบางพลัดบางช่วง เป็นต้น แต่ทั้งหมดควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

ด้าน นายธัชชัย ลิ้มพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางซื่อ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการควบคุมสถานการณ์น้ำทะลักบริเวณเชิงสะพานพระราม 7 โดยน้ำทะลักแนวคันกั้นน้ำของบริษัท ซีแพค ที่มีความสูงราว 2 เมตร โดยดันจนแนวคันกั้นพังออกมาประมาณ 1 ช่อง ทำให้น้ำไหลไปจนถึงถนนด้านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แต่ทางสำนักงานเขตฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมสถานการณ์ซ่อมแซมคันกั้นน้ำที่พังเรียบร้อยแล้ว และได้เสริมเพิ่มขึ้นอีก 50 เซนติเมตร ขณะนี้จึงไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 22 ต.ค. เวลา 17.00 น. พบว่า มีน้ำรั่วซึมจากคลองประปา เกิดน้ำรั่วซึมถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงศูนย์ราชการ ระดับน้ำ 50 เซนติเมตร ทั้ง 2 ฝั่ง ถนนเลียบคลองประปาถึงจากแยกพงษ์เพชร ถึงถนนแจ้งวัฒนะ ระดับน้ำ 5 ซม. จากถนนแจ้งวัฒนะถึงศรีสมานระดับน้ำท่วมเป็นช่วงๆ ประมาณ 20 ซม. หมู่บ้านบูรพา วัดเวฬุ วัดไผ่เขียว ระดับน้ำ 50 ซม. ถนนแจ้งวัฒนะหน้ากรมทหาร ระดับน้ำ 40-50 ซม. ซอยแจ้งวัฒนะ 14 ระดับน้ำ 40-50 ซม.

ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูง ช่วงเวลา 14.00 น.-15.00 น. ทำให้น้ำรั่วซึมแนวป้องกันบริเวณ ถนนประชาราษฎร์สาย 1 ใต้สะพานปิ่นเกล้า แยกเกียกกาย ถนนเขียวไข่กา และถนนจรัญฯบางช่วง ใต้สะพานพระราม 7 (แนวป้องกันของบ.ซีแพค พัง) หน่วยงานของสำนักการระบายน้ำเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่อง


จับตาคืนนี้ตีสามน้ำหนุนอีกรอบ
22 ตค. 2554 21:23 น. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.15 น. นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่า กทม. กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเหตุน้ำพระยาเข้าท่วมชุมชนเขียวไข่กาเขตดุสิต เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมาว่า ระดับน้ำได้เข้าท่วมในเขตชุมชนสูง 2.60 ม. โดยน้ำได้ดันแนวป้องกัน เข้ามาทะลุกำแพงยาวหนึ่งเมตร ส่งผลให้น้ำเข้าท่วมถนนมุ่งแยกบางกระบือสูงถึงเอว ซึ่งช่วงแรก พยายามไปซ่อมแซมจุดที่เสียหาย แต่ปรากฏว่ามีแรงดันน้ำที่สูงมาก จึงถอยร่นมากั้นกระสอบทรายตรงปากทางเข้าชุมชน แยกบางกระบือ โดยขณะนี้มีกำลังพลทหารบกมาช่วยเสริมแนวกระสอบทราย ซึ่งจะมีการเพิ่มอีก 2,000 ใบในการวางแนวป้องกันน้ำที่จะเข้าท่วมถ.สามเสน

นางทยา กล่าวต่อว่า สำหรับชุมชนเขียวไข่กามี 180 ครัวเรือน ซึ่งประชาชนได้อพยพไปแล้วแต่มีบางส่วนยังยืนยันจะอยู่ในพื้นที่ต่อไป ซึ่งหวังว่าในคืนนี้ระดับน้ำจะลดลง แต่มีการคาดว่าคืนนี้่ ในเวลา 03.00 น. ปริมาณน้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นอีก แต่จะไม่เท่าช่วงบ่ายที่ผ่านมา โดยวันนี้เจ้าหน้าที่จะทำงานกันทั้งคืน โดยส่วนหนึ่งจะนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความมั่นใจในนาทีนี้ในการรับมือสถานการณ์น้ำ นางทยากล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ไม่เคยบอกว่าจะป้องกันน้ำท่วม กทม. 100% แต่จะป้องกันให้ดีที่สุด ทั้งระดับน้ำคลองประปา คลองหกวา ฝั่งตะวันออก ต้องติดตามเฝ้าระวังทุกชั่วโมง แต่ทางสำนักงานเขตได้เตรียมโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อรองรับผู้อพยพแล้ว 185 แห่ง รับได้ 40,000 คน แต่ต้องพิจารณาว่าขณะนี้มีโรงเรียนใดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้างทำให้ กทม. ต้องมีแผนสองในการหาสถานที่ขนาดใหญ่ในการรองรับประชาชนเพิ่มเติม เบื้องต้นอาจจะเป็นโรงยิมของมหาวิทยาลัย แต่ต้องประสานงานก่อน คาดว่าอาจจะเป็นที่ ม.เกษมบัณฑิต

ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นในวันนี้เป็นเพราะ กทม. ได้เปิดประตูระบายน้ำตามคำสั่งของ ศปภ. หรือไม่ นางทยากล่าวว่า ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเพราะยังมีการสูบน้ำออกจากคลองประปาที่หนุนสูงขึ้น และอาจจะมีน้ำที่ถูกผันออกจากพื้นที่และน้ำทะเลหนุนเพิ่มเติมทำให้มีระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเหมือนบ่ายวันนี้ได้


ทหารเร่งทำคันกั้นป้องน้ำทะลักกทม.
22 ตค. 2554 21:20 น. 

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้กองทัพบกได้เร่งเดินหน้างานสร้างคันดินให้พร้อมรับมวลน้ำที่จะเข้าสู่พื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันออก ด้วยการระดมรถโกยตักและทหารช่างเข้าทำคันดินตั้งแต่รังสิตคลอง1 - 8 และตั้งแต่คลอง 8-คลองหกวา ระยะทางรวม 32.1 กม. ซึ่งขณะนี้สามารถสร้างคันกั้นน้ำได้แล้ว 15 กม.และจะเร่งทำอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้กรมการทหารช่างได้นำเรือเข้ากำจัดวัชพืชและผักตบที่กีดขวางทางน้ำในคลองรังสิตด้วยและได้ส่งกำลังทหารเข้าช่วยก่อกระสอบทรายทำคันกั้นน้ำป้องกันผิวการจราจรและชุมชนริมฝั่งน้ำ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเอ่อล้นฝั่งในหลายจุด เช่นที่ เขตสามเสน สะพานพระราม 7 และได้เข้าก่อแนวกระสอบทรายทำคันกั้นน้ำ ขนย้ายสิ่งของในพื้นที่ เขตสายไหม บางพลัด พร้อมทั้งจัดกำลังพล ยานพาหนะเตรียมให้ความช่วยเหลือในพื้นที่เสี่ยง เช่น เขตป้อมปราบฯ เขตห้วยขวาง เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตพระนคร

ส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กองทัพบกยังคงกำลังทหารทหารจาก มณฑลทหารบกที่ 11และ กองพลทหารราบที่ 9 ช่วยทางนิคมเตรียมรับสถานการณ์น้ำด้วยการวางแนวกั้นน้ำชั้นที่ 2 ด้วยแผ่นคอนกรีตและวงปูน การก่อกระสอบทรายทำแนวกั้นน้ำ การทำแนวหินคลุกเป็นคันกั้นน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ส่งทหารเข้าสนับสนุน นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เตรียมรับสถานการณ์น้ำเช่นกัน

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวว่า ส่วนในพื้นที่บริเวณหลักหก อ.เมือง กำลังทหาร 350 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์เข้าช่วยขนย้ายสิ่งของ ณ หมู่บ้านเมืองเอก และเสริมความแข็งแรงคันกั้นน้ำริมคลองรังสิต และต้องเฝ้าระวังตลอด 24ชม. นอกจากนี้ในพื้นที่ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คันกั้นน้ำบริเวณคลองหก ที่ได้พังทลายลงยาวประมาณ 120 เมตร น้ำทะลักเข้าบ้านเรือนประชาชนนั้น กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์(พล.ร.2รอ.) ได้เข้าช่วยเหลือประชาชนทำการอพยพออกมายังพื้นที่ปลอดภัยโดยทันที

สำหรับพื้นที่รังสิต-ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่อง ทำการสูบน้ำออกจากคลองรังสิตเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดเวลา ส่วนในพื้นที่คลอง1-7 กองทัพบกได้ส่งทหารเข้าเสริมแนวกระสอบทรายที่จัดทำขึ้นและเสริมด้วยแนวคันดินอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


ปราโมทย์เผยน้ำทะลักกทม.ชั้นในวันนี้แค่กระฉอก
22 ตค. 2554 21:03 น. 

นายปราโมทย์ ไม้กลัด ที่ปรึกษาพิเศษผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมที่บริเวณท่าน้ำต่างๆเนื่องจากน้ำหนุนสูง ในวันนี้ว่า เป็นเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงและวันนี้เป็นลักษณะน้ำกระฉอกมีความเปลี่ยนแปลง แต่คืนนี้จะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในช่วงระดับน้ำขึ้นสูงสุดแต่ละวันเราก็ต้องเฝ้าติดตามดูแล เหตุการณ์ในวันนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ประจำ เชื่อว่าพรุ่งนี้จะอยู่ในภาวะปกติ

ต่อกรณีที่น้ำจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 28-30 ต.ค. ที่จะถึงนี้ นายปราโมทย์ กล่าวว่า จะอันตรายหรือไม่ต้องติดตามระวัง แต่ไม่ต้องห่วงเพราะระดับคั้นกั้นน้ำมีไว้เพียงพอ อาจจะกระฉอกเหมือนวันนี้บ้างในบริเวณที่เป็นจุดอ่อน แต่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์รุนแรงจนดูแลไม่ได้ และถ้าน้ำขึ้นสูงสุดก็จะใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษๆเท่านั้น แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง คิดว่าช่วงน้ำทะเลหนุนสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 2.30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่สะพานพุทธฯ

ขณะที่การป้องกัน กทม.ในตอนเหนือนั้น นายปราโมทย์ ระบุว่า ตนเพิ่งประชุมกับผู้ใหญ่ และ กทม. หลักการที่ต้องดูแลคือน้ำที่ไหลเข้ามาปะทะคลองรังสิต และคลองหกวา ต้องผันไปทางตะวันออกและทิศใต้ โดยใช้คลองต่างๆ ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย วันนี้น้ำจำนวนมากที่อยู่ทิศเหนือ เราต้องรักษาระดับน้ำให้ไม่สูงมาก เราต้องดึงออก ซึ่งเขาก็บอกว่าทำแล้ว ตรงนี้ต้องดูแลให้ดีเพราะเป็นจุดอ่อน และจะต้องดูจนกว่าจะแน่ใจว่าจะควบคุมได้ นอกจากนี้เราก็ตกลงว่าน้ำส่วนหนึ่งจะผ่าน กทม. ชั้นใน แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมซึ่ง กทม. ก็ทำแล้ว เป็นกระบวนการที่ทำให้น้ำมีทางไป วันนี้ทุกฝ่ายกำลังทำให้ชัดเจน

สำหรับคำถามเรื่องว่าเขตใดต้องเป็นผู้เสียสละในการระบายน้ำบ้าง นายปราโมทย์กล่าวว่า มีนบุรี ลาดกระบัง แต่ไม่ใช่ผู้เสียสละ การระบายน้ำจะแผ่เป็นวงกว้าง เขาเป็นผู้ประสบภัย ซึ่งย่านนี้เป็นทางน้ำผ่านโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เราจะระบายน้ำออกต้องอาศัยทางน้ำผ่าน มันไม่ให้ผ่านไม่ได้ และรัฐบาลก็ต้องไปเจรจากับผู้ได้รับผลกระทบ

เมื่อถามว่า กทม. มีโอกาสรอดไหม นายปราโมทย์ตอบว่า "ผมไม่พูดว่าจะไม่รอด โดยหลักการที่ทำเราเชื่อว่าหากเราคงทนมั่นคงยืนระยะยาว กทม. จะปลอดภัย เราให้น้ำพังทลายเข้าเขตเศรษฐกิจไม่ได้ เราก็ต้องสู้กัน ให้ความมั่นใจได้ แต่จุดอ่อนเราก็มี ซึ่งเราก็ทำเต็มความสามารถ"


ผอ.คลองเตยยันไม่ได้แจ้งเตือนปชช.ให้ขนของขึ้นที่สูง
22 ตค. 2554 20:53 น. 

เมื่อเวลา 19.00 น. นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ ผอ.เขตคลองเตย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเนชั่นถึงกระแสข่าวในทวิตเตอร์ว่ามีการแจ้งเตือนประชาชนชนในพื้นที่เขตคลองเตยให้ขนของมีค่าขึ้นที่สูงว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ยืนยันได้ว่าในวันนี้ เขตไม่ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนแต่อย่างใด เนื่องจากการแจ้งเตือนทุกครั้ง จะต้องได้รับการประสานมาจากกทม.ส่วนกลางถึงจะแจ้งเตือนได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายอมรับว่าทางเขตเคยแจ้งเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยหากประชาชนจะขนของมีค่าขึ้นสู่ที่สูงก็สามารถทำได้ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะมีน้ำเข้าท่วมในพื้นที่ แต่หากใครมั่นใจว่าในพื้นที่ยังปลอดภัยจากน้ำท่วมก็ยังไม่จำเป็นต้องขนของขึ้นที่สูงก็ได้ ทางเขตได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเท่านั้น

ขณะนี้ได้รับรายงานว่าปริมาณน้ำที่อยู่ในคลองในพื้นที่ทั้งสามแห่ง ประกอบด้วยคลองพระโขนง คลองหัวลำโพง และคลองบางจาก ยังอยู่ในระดับปริมาณน้ำที่ปกติ แต่ทางเขตคลองเตยก็จะเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป โดยหากกทม.ได้ประสานมายังเขตว่ามีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ทางเขตก็จะแจ้งไปยังประชาชนได้รับทราบทันที


สุขุมพันธุ์ชี้รพ.ศิริราชมีน้ำซึม เร่งสูบแล้ว
22 ตค. 2554 20:39 น. 

เมื่อเวลา 19.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกทม. กล่าวว่า เป็นห่วงระดับน้ำในคลองเปรมประชากรมีปริมาณสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหน้าสน.ดอนเมือง ปริมาณน้ำได้ถึงตลิ่งแล้ว ส่วนระดับน้ำเจ้าพระยาที่หนุนสูงฉับพลันในวันนี้ เป็นผลจากน้ำเหนือได้เข้ามาในพื้นที่รวมทั้งมีมวลน้ำบางส่วน ได้ผ่านมาเส้นทางทุ่งจากอ.บางไทร จ.อยุธยา ถึงกทม.ทั้งที่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาไม่มีสัญญาณบ่งบอก ซึ่งส่วนหนึ่งมีการคาดการณ์ว่าน้ำทะเลได้หนุนสูง 0.98 มม. ปริมาณน้ำที่อ.บางไทรอยู่ที่ 3,400 กว่าลบ.ม./วินาที จึงไม่มีอะไรบ่งบอกว่าน้ำเจ้าพระยาจะหนุนสูง แต่เมื่อมีการวัดระดับน้ำเจ้าพระยาในวันนี้ กลับพบว่าบางพื้นที่อยู่ที่ระดับ 2.4 ม.ทำให้ปชช.เดือดร้อน ใน 5 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางพลัด และบางกอกน้อย ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้ส่งจนท.เข้าไปแก้ปัญหาแล้ว

"ส่วนที่รพ.ศิริราช ได้มีน้ำซึมเข้ามาในพื้นที่เนื่องจากแนวคันกั้นน้ำของรพ.ศิริราชบางส่วนเป็นแนวเก่า ทำให้น้ำสามารถซึมเข้าไปได้ แต่ขณะนี้ได้ส่งจนท.ไปเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วขึ้น อีกทั้งเร่งเสริมแนวกระสอบทรายเป็น 3 ม. จากเดิม 2.8 ม. ทั้งนี้คาดว่าในวันพรุ่งนี้เวลา 16.00 น. น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในวันนี้ เนื่องจากน้ำเหนือไม่สามารถคาดคะเนได้ กทม.จึงได้ตัดสินใจให้ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำจำนวน 13 เขต 1,200 ครัวเรือน ย้ายไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว เพราะเกรงว่าหากสถานการณ์แย่กว่านี้ จะเป็นอันตรายกับประชาชนในพื้นที่ได้" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังได้กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยด้วยว่า กทม.ได้เตรียมแผนสองไว้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะพื้่นที่กทม.ฝั่งตะวันออก กทม.ได้ย้ายผู้ป่วยในจากรพ.ลาดกระบัง ไปยังรพ.สิรินธรแล้ว โดยสามารถรองรับได้ 150 เตียง เพื่อรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกทม.ฝั่งตะวันออกในเร็ววันนี้


ผู้ว่าฯกทม.แนะชุมชนเขียวไข่กาพักศูนย์พักพิง
22 ตค. 2554 20:37 น. 

เมื่อเวลา 19.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกทม. กล่าวถึงปัญหาที่ชุมชนเขียวไข่กา ว่า เป็นเพราะมีน้ำได้เข้ามาทางแนวป้องกันของรร.ราชินีบน ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในชุมชนดังกล่าว หากไม่มั่นใจในสถานการณ์สามารถย้ายไปที่ศูนย์พักพิงได้ทันที ซึ่งกทม.ได้เตรียมศูนย์พักพิงไว้จำนวน 173 ศูนย์ทั่วกทม. โดยมีแผนสองคือ จัดเตรียมศูนย์พักพิงขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการอพยพประชาชนหลักพันคน ซึ่งกทม.จำเป็นต้องหาที่สำรองไว้ ให้เป็นสถานที่ใหญ่และกว้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ในการอพยพประชาชนในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่เป็นแค่การเตรียมตัวเบื้องต้นไว้เท่านั้น


ผู้ว่าฯกทม.คาดน้ำจากคลองรังสิตถึงศปภ.ดอนเมืองแน่
22 ตค. 2554 20:29 น. 

เมื่อเวลา 19.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกทม. แถลงข่าวภายหลังร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารกทม.เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำในกทม.ว่า วันนี้ช่วงบ่ายที่ผ่านมาระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น มีน้ำท่วมมากในหลายพื้นที่ แต่สถานการณ์ส่วนใหญ่ยังไม่วิกฤต โดยระดับในคลองทวีวัฒนา นอกประตูระบายน้ำมีปริมาณน้ำสูงขึ้นไม่มากนัก ส่วนที่คลองหกวา เขตสายไหม ปริมาณน้ำลดลง 3 ซม. ขณะที่ 4 เขตฝั่งตะวันออก มีปริมาณน้ำท่วมขังขึ้นลง 3 ซม. แต่ที่ต.หลักหก ยังไม่มีปัญหาอะไร

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กทม.ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อยู่ โดยจุดแรกที่ ถ.พหลโยธิน แยกคลองรังสิต ซึ่งที่ผ่านมากทม.ได้เข้าไปตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อกู้สถานการณ์อยู่นอกเขตกทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ของจ.ปทุมธานีในการสร้างแนวป้องกันน้ำ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากมีหน่วยงานของกทม.เข้าไปดูแลจุดนั้นอยู่หน่วยงานเดียว ทำให้ขณะนี้น้ำได้มาถึงหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติแล้ว คาดว่าอีกไม่นานจะถึงศปภ.ดอนเมือง แต่คืนนี้กทม.จะเข้าไปกู้สถานการณ์จุดนี้ให้ได้ ถึงแม้จะไม่ได้มีความรับผิดชอบจุดนี้ก็ตาม

ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดระดับน้ำในคลองประปาไม่ได้เข้าท่วมหลักสี่และดอนเมืองแล้ว หลังจากทางกปน.ได้เข้าไปลดระดับน้ำในคลองประปา ทำให้สามารถอุ่นใจในสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กทม.จะเฝ้าระวังสถานการณ์ทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อไป


แนวกั้นน้ำท่าน้ำนนท์แตกชาวบ้านตื่นหนีน้ำโกหลาหล
22 ตค. 2554 19:03 น. 

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 22 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า แนวคันกั้นน้ำกระสอบทรายของเทศบาลนครนนทบุรี บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนท์ ได้พังทลายลงเป็นแนวกว้างประมาณ 5 เมตร ทำให้น้ำไหลทะลักเข้ามาท่วมในพื้นที่บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนท์ทันที นอกจากนี้น้ำยังได้ไหลทะลักเข้าท่วมไปยังพื้นที่ศาลากลางหลังเก่า ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์อีกด้วย และน้ำยังได้เข้าท่วมกองทรายขนาดใหญ่ที่ทางเทศบาลนครนนทบุรี นำมาเทกองไว้เพื่อให้อาสาสมัครมาบรรจุทรายลงกระสอบ โดยระดับน้ำที่เข้าท่วมมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร

ซึ่งเหตุดังกล่าวในช่วงที่น้ำทะลักไหลเข้ามา ทำให้ประชาชนที่กำลังเดินทางไปมาบริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนท์ ถึงกับวิ่งหนีกันอย่างโกหลาหล เนื่องจากตกใจกลัวว่าน้ำจะไหลเข้ามาท่วมอย่างรวดเร็วและทำให้หนีไม่ทัน

เจ้าหน้าที่เทศบาลนครนนทบุรี เปิดเผยว่า สาเหตุที่คันกันน้ำพังทลายลงนั้น เนื่องมาจาก วันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีมีปริมาณสูงถึง 3.05 เมตร ทำให้แนวคันกันน้ำที่ทำด้วยถุงบรรจุทราย ซึ่งถูกแช่น้ำและต้านแรงน้ำมาหลายวัน ประกอบกับวันนี้น้ำในแม่น้ำมีปริมาณจำนวนมาก จึงเกิดการพังทลายลงของแนวกระสอบทราย แต่อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดเหตุได้ไม่นาน ทางเทศบาลก็ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยกันทำการอุดแนวคันกันน้ำที่พังทลายลงมา จนสามารถซ่อมแซมได้สำเร็จ และทางเทศบาลเตรียมนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำที่ทะลักเข้ามาท่วมขังออกไป


"Thaiflood"ถอนตัว จวกศปภ.กั๊กข้อมูล
22 ตค. 2554 18:34 น. 

นายปราเมศ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.thaiflood.com เป็นการทำงานของภาคประชาชนที่ร่วมกับศูนย์ ศปภ. มาตั้งแต่แรก เปิดเผยเหตุผลขอถอนตัวจากศูนย์ ศปภ.ที่ดอนเมือง ว่าคงไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ต่อเพราะถูกกีดกั้นด้านข้อมูล และ ศปภ.ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ถึงขนาดมีการโทรศัพท์มาขอเซ็นเซอร์ข้อมูลก่อนที่จะแถลงข่าว นอกจากนี้ยังเห็นว่า การบริหารจัดการที่ไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีการแจ้งข้อมูลต่อประชาขนอย่างเป็นระบบ เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้กลุ่ม Thaiflood ต้องขอแยกตัวจาก ศปภ. ไปยังตึกสำนักงาน “ไซเบอร์เวิร์ล” ที่รัชดา พร้อมเตือนว่าภัยธรรมชาติเมื่อบวกกับการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบก็จะกลายเป็นภัยพิบัติ

เหตุการณ์ที่ Thaiflood ได้ตัดสินใจ ไม่รวมงานกับ ศปภ. คือการที่Thaiflood ออกแถลงการเตือนสถานการณ์น้ำท่วม กทม. ออกไป กลับมีการโทรศัพท์จากภาครัฐบาลเข้ามาแสดงความไม่พอใจ อยากให้ปรับเปลี่ยนท่าทีในการออกแถลงการณ์ เช่นข้อมูลบางอันก็ขอให้ส่งผ่าน ศปภ. ก่อนที่จะมีการนำเสนอ ซึ่งตนบอกว่าทำไม่ได้ เพราะยามวิกฤติประชาชนกำลังรอข้อมูลเพื่อความอยู่รอด แต่ศปภ. จะเอาข้อมูลไปกรองก่อน ตนเกรงว่า ข้อมูลอาจถูกบิดเบือนได้ เพราะมีความพยายามจะขอเซ็นเซอร์ข้อมูลของ Thaiflood อย่างไรก็ตาม เราพยายามเตือนประชาชนด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช้คำที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้ข้อมูลจริงที่นำไปสู่การตัดสินใจได้

สิ่งที่ประชาชนไม่เคยได้รับคือมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการรองรับปัญหา เช่นมีการประกาศแผนอพยพ แต่ไร้แผนรองรับ ทั้งที่ควรจะบอกชัดเจนก่อนว่าให้อพยพไปไหน ไม่ใช่อยู่ ๆ น้ำเข้ามาแล้ว ผู้คนแตกตื่นแต่ไม่รู้ว่าจะต้องอพยพไปไหน

“วานนี้ (21 ต.ค.) นายกฯ แถลงว่าจะปล่อยน้ำให้ระบายผ่าน กทม. เราก็อยากฟังแผนการระบายน้ำเพื่อที่จะได้ช่วยคิดช่วยทำ แต่ ศปภ.กลับแถลงแค่ขอเครื่องสูบน้ำจากภาคเอกชน ผมเองยังเคยเสนอแผนการระบายน้ำอย่างเป็นระบบที่คลองเปรมฯ มาแล้ว ก็เห็นว่าที่ประชุม ศปภ. เอาไปพิจารณาและเอาไปทำ ผมก็อยากจะเห็นแผนในลักษณะเดียวกันออกมาจากรัฐบาล ผมไม่อยากเห็นเพียงว่าพอแก้ปัญหาไม่ได้เพราะไม่เป็นระบบ สุดท้ายก็มาพูดแค่ว่าเราได้ทำเต็มความสามารถแล้วเท่านั้น” ผู้ก่อตั้งไทยฝลัดกล่าว


น้ำจ่อคอหอย ทะลักล้นท่อหน้าท่าอากาศยานดอนเมือง
22 ตค. 2554 18:12 น. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.30 น. ที่บริเวณซอยท่าอากาศยาน 3 สนามบินดอนเมือง ได้มีปริมาณน้ำเอ่อล้นขึ้นมา บนท่อระบายน้ำ โดยมีความสูงประมาณ 5 เซนติเมตร และกระจายตัวเป็นวงกว้างประมาณ 2 ช่องทางจราจร บนถนนวิภาวดี-รังสิตขาเข้า โดยเจ้าหน้าที่ของท่าอาศยานนั้น ได้นำกระสอบทรายมาปิดเสมอกับช่องระบายน้ำบนถนนดังกล่าวไว้แล้ว และมีการนำแบริเออร์ มาปิดกั้นถนนไว้อีก 2 ช่องทางนอกจากนี้ ที่หน้าประตูทางเข้าอาคารวีไอพีระหว่างประเทศ ที่ใช้เป็นที่ประชุมครม.ชั่วคราวนั้น เจ้าหน้าที่ได้มีการนำหินคลุกมาทำเนินกั้นน้ำไว้ โดยมีความสูง ประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าอาคารดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตาม เนินกั้นน้ำดังกล่าวที่อยู่หน้าประตูอาคารวีไอพีนั้น รถยนต์ยังสามารถเดินทางเข้าออกได้ตามปกติ แต่การจราจรบนถนนวิภาวดี-รังสิตในขณะนี้นั้น สามารถเปิดช่องทางให้รถเดินทางได้เพียง 2 ช่องทางเท่านั้น ซึ่งรายงานล่าสุด ปริมาณน้ำที่ขึ้นมาหน้าท่าอากาศยานฯนั้น เกิดขึ้นมาจากการปล่อยน้ำของคลองรังสิต ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นระยะๆ โดยต้องเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


ผู้ว่าฯกทม.รุดตรวจท่าพระจันทร์-วังหลังหลังน้ำหนุนสูง
22 ตค. 2554 17:03 น. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ผู้ว่าราชการ กทม. ได้เดินทางมายัง ท่าน้ำศิริราช หลังจากได้รับแจ้งว่า น้ำเจ้าพระยาหนุนสูงกะทันหันจนท่วมพื้นที่ท่าพระจันทร์ และท่าวังหลัง โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่าตนได้มาตรวจระดับน้ำเจ้าพระยาโดยพบว่ามีปริมาณหนุนสูงฉับพลัน โดยที่ระดับน้ำหน้าโรงพยาบาลศิริราช วัดได้สูง 2.3 - 2.4 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง หลังจากช่วงเช้าวัดได้ที่ 2.14 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่น่าเป็นห่วง และโรงพยาบาลศิริราช ที่ผ่านมา กทม. ได้เสริมแนวกั้นที่ระดับ 2.8 เมตร แต่ตนได้สั่งการให้เพิ่มแนวเป็นระดับ 3 เมตร จากสถานการณ์ที่ผ่านมามีน้ำบางส่วนได้เข้ามาในพื้นที่ วังหลัง และท่าพระจันทร์ โดยซึมเข้ามาตามแนวคันกั้น แต่ไม่ทำให้แนวเสียหาย ส่วนสาเหตุที่มีระดับน้ำสูงฉับพลันนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนเนื่องจากช่วงเช้าระดับน้ำเจ้าพระยาที่วัดได้ ที่อ.บางไทร จ.อยุธยา และที่ปากคลองตลาด ระดับน้ำก็ไม่ได้ผิดปกติกว่าที่ผ่านมา ซึ่งในวันนี้ 18.00 น. ตนจะเรียกผู้บริหาร กทม.เพื่อประชุมหาสาเหตุและสรุปสถานการณ์อย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ตนขอแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยนอกแนวคันกั้นน้ำ และได้รับผลกระทบ ปริมาณน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่ในตอนนี้สามารถอพยพออกได้ทันที ไปยังศูนย์อพยพที่สำนักงานเขตต่างๆได้เตรียมพร้อมไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปริมาณน้ำเจ้าพระยาได้หนุนสูงจนเข้าท่วมพื้นที่ ท่าน้ำท่าพระจันทร์ และท่าน้ำวังหลังพบว่ามีน้ำได้ทะลักจากท่อระบายน้ำ ทำให้น้ำสูงประมาณครึ่งแข้ง ซึ่งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ กทม. ได้ขนกระสอบทรายมาเตรียมปิดกั้นในจุดอ่อนและเร่งระบายลงท่อที่ยังไม่ทะลักขึ้นมา ขณะที่ร้านค้าที่ท่าพระจันทร์บางร้านก็ปิดร้าน แต่บางร้านก็ยังเปิดขายตามปกติ และมีแม่ค้ารายหนึ่งได้ตะโกนเชิญชวนนักท่องเที่ยวว่า "ขอเชิญมาเที่ยวตลาดน้ำท่าพระจันทร์" นอกจากนี้ยังพบว่า มีน้ำเอ่อท่วมด้านประตูข้างของ ม.ธรรมศาสตร์ อีก

ขณะที่โรงพยาบาลศิริราชได้มีเจ้าหน้าที่ของ กทม. กำลังพลจากกองทัพบกและประชาชนทั่วไปมาเร่งเสริมกระสอบทรายหลังจากที่ได้เตรียมการไว้แล้ว เพื่อนำไปวางในจุดที่คาดว่าจะมีน้ำทะลักเข้ามา แต่ในโรงพยาบาลศิริราชยังไม่มีน้ำเข้ามาท่วมแต่อย่างใด


ปิดถนนหน้าหมู่บ้านนันทวัน เลียบคลองประปา
22 ตค. 2554 16:34 น. 

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 16.20 น. บริเวณถนนเลียบคลองประปา ช่วงหมู่บ้านนันทวัน มุ่งหน้าแยกคลองประปา เจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือไม่ให้รถสี่ล้อที่จะเข้ามาจากแยกพงษ์เพชรห้ามเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากพื้นผิวจราจรมีน้ำท่วมขัง



ผวาท่วมรพ. ซี-130ทยอยขนผู้ป่วยกทม.หนีน้ำท่วม
22 ตค. 2554 15:28 น. 

พล.อ.ต.ธีรภาพ เสนะวงษ์ ผอ.สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ โดยเครื่องบิน ซี 130 จากโรงพยาบาลภูมิพลฯและโรงพยาบาลนพรัตน์ฯ 12 ราย ซึ่งเป็นการอพยพผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯโดยเที่ยวบินนี้จะขนย้ายผู้ป่วยไปที่สนามบินอู่ตะเภา ส่วนคนไข้จากโรงพยาบาลภูมิพลฯจะไปที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าฯ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของทหารเรือ คนไข้จากโรงพยาบาลนพรัตน์ฯ จะไปที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทร์บุรี

ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดอุทกภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ได้เคลื่อนย้ายคนไข้จากอุทกภัยมาแล้ว 400 ราย แต่เป็นทางอากาศประมาณ 50 ราย โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ แต่ครั้งนี้เป็นแผนปฏิบัติการที่คาดการณ์ว่าถ้ามีน้ำท่วมโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทางตอนเหนือของประเทศ รพ.จะอยู่ได้ไม่นาน แล้วปัญหาของคนไข้ที่มีจำนวนมาก หากน้ำท่วมหนักจะมีการลำเลียงออกมาลำบากจึงต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยก่อน ซึ่งจะไม่ย้ายเข้ากรุงเทพฯ เพราะอาจจะพบปัญหาเช่นเดียวกัน จึงต้องมีการวางแผนเป็นระบบ เริ่มจากการติดต่อรพ.ที่ปลายทาง คือจังหวัดที่รองรับได้ ซึ่งโรงพยาบาลทางภาคตะวันออกน่าจะปลอดภัย

“ตามแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ได้ติดต่อโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ตามต่างจังหวัดไว้หลายแห่ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ลำเลียงทางไกลจำนวนมาก และเป็นคนไข้หนัก ต่อไปถ้าจะมีอีกก็จะมีการติดต่อตามสถานการณ์วันต่อวัน ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ เราจะนำแพทย์และพยาบาลจากทางโรงพยาบาลที่จะเคลื่อนย้ายคนไข้ไปด้วย พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนขั้นตอนการเคลื่อนย้ายคนไข้ทางอากาศยาน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจะรวบรวมความต้องการและเสนอมาทางอากาศยาน ซึ่งกองทัพอากาศจัด ซี 130 ให้การสนับสนุนอยู่ตลอดในช่วงนี้ ” พล.อ.ต.ธีรภาพ กล่าว


"นายกฯ"บอกไม่ได้ตั้ง"ศปภ.ส่วนหน้า"
22 ตค. 2554 15:27 น. 

เมื่อเวลา 11.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ระบุในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” ต้องรออีก 4 - 6 สัปดาห์สถานการณ์น้ำถึงจะคลี่คลาย ว่า สถานกาณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์น้ำในพื้นที่ทั่วๆไปไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ เพราะว่า น้ำจะไม่ค่อยระบายออก ซึ่งเราพยายามจะเร่งให้ระบายเร็วกว่านั้นตามมาตรการต่างๆที่ประกาศไปแล้ว เนื่องจากในปลายเดือนต.ค.นี้ได้ให้กรมชลประทานหามาตรการรองรับน้ำทะเลหนุนสูงอยู่แล้ว ส่วนการระบายน้ำก็ต้องหาทางให้น้ำลดลงเร็วที่สุด แต่ปริมาณจะลดลงไปเรื่อยๆไม่ท่วมขังสูงแต่จะค่อยๆไหลไปตามเส้นทางระบายน้ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้มาตรา 31 ของพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคาดว่าจะได้ผลหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องรอฟังผลเพราะการใช้มาตร 31 เราใช้เพื่อให้เกิดความครบวงจร และทุกคนได้ปฏิบัติตามหน้าที่ และเป็นการใช้วิธีส่งรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เกิดความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติงาน ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเข้าไปดูรายละเอียด เพื่อจะไปติดตามแต่ละจุดที่มีการสั่งการไปว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่
เมื่อถามว่า แต่วันนี้หลายจุดในกทม.น้ำในคลองยังแห้งอยู่แสดงว่าการระบายน้ำยังทำไม่เต็มที่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอฟังการรายงานเข้ามาก่อน เพราะยังไม่ได้รับรายงาน ซึ่งการขอใช้มาตรา 31 เพื่อสั่งให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนนั้นปฏิบัติงาน เพราะการปิด-เปิดประตูระบายน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต้องเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมงในสถานการณ์แบบนี้ เพราะช่วงไหนที่จังหวะน้ำลง จะเร่งระบายได้ ถ้าช่วงไหนปริมาณน้ำมากคงจะต้องชะลอน้ำ ต้องมีการติดตามตลอดเวลาไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำแช่ไว้ได้ คาดหวังว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือทำตามขั้นตอน เพื่อให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำเป็นไปอย่างเต็มที่
ต่อข้อถามว่า มีการมองว่าศปภ.ส่วนหน้าที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาใหม่มีนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผอ.เป็นการริดรอนอำนาจของผู้ว่าฯกทม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "อันนี้ยังไม่รู้ ดิฉันยังไม่ได้ตั้งในส่วนของศปภ.ส่วนหน้า" เมื่อถามต่อว่า ศปภ.ส่วนหน้าเป็นหน่วยงานรองรับการทำงานของกระทรวงมหาดไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อันนี้จะเป็นส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วันนี้ที่สั่งไปคือศปภ.ยังทำงานเหมือนเดิม เมื่อถามอีกว่า หมายถึงว่าศปภ.ได้มอบหมายให้นายพระนายไปนั่งทำงานที่ศาลาว่าการกทม.ประสานงานกับผู้ว่าฯกทม.เป็นการรองรับคำสั่งนายกฯอีกทีในส่วนของกระทรวงมหาดไทยไปดำเนินการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นิ่งไปสักพักก่อนตอบว่า "ยังไม่มีเดี๋ยวขอเช็กก่อนนะค่ะ อันนี้ขอเช็ครายละเอียดก่อนเพราะดิฉันไม่ได้เขียนไป"


เร่งปิดช่องขาดริมแม่น้ำเจ้าพระยา
22 ตค. 2554 15:06 น. 

นายมานพ ชัยพิชิต ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 10 ได้กล่าวว่า บนคันคลองฝั่งขวานี้มีช่องขาดรวม 6 จุด รวมทั้งประตูระบายน้ำบางโฉมศรีด้วย ขณะนี้เหลืออีกเพียง 2 จุด คือจุดนี้ และที่ ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท คาดว่าทั้ง 2 จุด จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5 วัน จะปิดช่องขาดเพื่อชะลอความแรงของน้ำช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลงได้ ซึ่งจะต้องใช้เกเบี้ยนบรรจุหินใหญ่นำซ่อมช่องระบายถึง 1 หมื่น 2 พันกล่อง
ขณะเดียวกัน นายอนุสรณ์ ศรีวงษ์ญาติดี ผู้อำนวยการสำนักงานบำรุงทางสิงห์บุรี ได้แจ้งให้ผู้ใช้เส้นทางหลวงหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชียขาขึ้นบริเวณช่วงหลัก กม.100 รถที่จะเดินทางขึ้นทางเหนือไปใช้เส้นทางขาล่องเปิดให้สวนกันได้ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานชะลอน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งต้องใช้พื้นที่เพื่อความสะดวกกับการใช้เครื่องจักรกลหนัก



กฟภ. แนะใช้ไฟอย่างปลอดภัยช่วงน้ำท่วม
22 ตค. 2554 15:04 น. 


การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แนะนำความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าในขณะที่มีน้ำท่วมในบ้าน หากระดับน้ำสูงใกล้ระดับปลั๊กไฟให้ปลดเมนท์สวิตซ์ออกสำหรับบ้านชั้นเดียว ส่วนกรณีบ้าน 2 ชั้นและมีสวิตซ์แยกแต่ละชั้นให้ปลดสวิตซ์ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่าง หากไม่สามารถตัดสวิตซ์ในชั้นล่างได้ให้งดการใช้กระแสไฟฟ้าเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกกรณีที่ตัวผู้ใช้สัมผัสน้ำ


ตร.ยกรถผู้ฝ่าฝืนห้ามจอดในศปภ.ดอนเมือง
22 ตค. 2554 14:03 น. 

เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ดอนเมืองได้ดำเนินการยกรถผู้นำมาจอดขวางซ้อนคันที่กีดขวางทางจราจรพื้นที่ในศปภ.ดอนเมือง ไม่เว้นแม้แต่บริเวณที่จอดรถสำหรับผู้ติดตามคณะรัฐมนตรี ก็จะถูกดำเนินการเคลื่อนย้ายรถด้วยเช่นกัน เนื่องจากในขณะนี้มีผู้เดินทางนำสิ่งของมาบริจาคที่ ศปภ.ดอนเมืองจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ขนลำเลียงสิ่งของบริจาคขึ้นรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ต้องทำกันทั้งวัน


ผบ.ทบ.นำทหารเฝ้าระวังนิคมลาดกระบัง-บางชัน
22 ตค. 2554 13:21 น. 

เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก และพล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 เดินทางมาตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังและนิคมอุตสาหกรรมบางชัน พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนเดินทางมาในกรอบงานที่รัฐบาลมอบหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมของทั้งสองนิคมฯ โดยตนจะนำกำลังทหารมาสนับสนุนป้องกันไม่ให้น้ำท่วม เพราะนิคมอุตสาหรรมแต่ละแห่งมูลค่าหลายแสนล้านบาท หากน้ำท่วมจะทำให้เศรษฐกิจต่างๆของประเทศมีปัญหา โดยเฉพาะรายได้ของประชาชน นโยบายแรกคือเราจะป้องกันให้ได้มากที่สุด ประการที่สอง ถ้าป้องกันไม่ได้ เราจะป้องกันให้ได้บางส่วน และประการที่สาม ถ้าป้องกันไม่ได้บางส่วนจะต้องเตรียมการสำหรับกู้ หลังจากระดับน้ำทรงตัวแล้ว ซึ่งเราจะไม่ทิ้งงาน และจะดูแลจนกว่าภารกิจเสร็จ เราจะดูแลให้ดีที่สุด โดยเราจะนำบทเรียนจากนิคมหลายแห่งที่ผ่านมานำมาแก้ไขปัญหา ซึ่งผู้ว่าการฯทราบดีมาตลอดว่า เกิดปัญหามาอย่างไร โดยเราต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ แต่เรารับประกันไม่ได้ 100 % ว่าน้ำจะไม่ท่วม
“ อยากให้ทุกคนคิดว่า ถ้าน้ำมันท่วมแล้วจะทำอย่างไร ก่อนที่จะท่วมทุกคนต้องรู้ว่า ถ้าท่วมแล้วจะไปไหน ถ้าท่านไม่อพยพจะมีกินได้อย่างไร ท่านต้องรู้ ต้องไปหาผู้นำท้องถิ่นว่า ถ้าท่วมแล้วจะย้ายไปไหน เพื่อจะได้เตรียมแผนตั้งแต่วันนี้ และถ้าท่านยังอยู่ในหมู่บ้านเดิม จะต้องถามว่า ถ้าท่วมแล้วไปไหนไม่ได้ จะให้ทำอย่างไร หรือรับของได้ที่ไหน เพราะที่ผ่านมา ผู้ประสบภัยอยู่ที่บ้านตนเองตลด และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจเยี่ยม เอาของไปให้ทุกบ้านซึ่งเป็นไปไม่ได้ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทุกอย่างต้องเตรียมตัวก่อนท่วม ซึ่งเราจะต้องทำให้เป็นมาตรฐาน อยากเรียนไปถึงผู้นำท้องถิ่นเข้าไปดูแลประชาชน โดยให้รีบตั้งแต่บัดนี้ โดยเฉพาะจัดจุดย่อยเพื่อแจกจ่ายสิ่งของ ประชาชนต้องช่วยตัวเองบ้าง ถ้าให้เราช่วย อย่างไรก็ไม่พอ เพราะประชาชนเดือดร้อนเป็นล้านคน แต่มีเจ้าหน้าที่ไม่กี่หมื่น แสนคน ทุกอย่างต้องวางแผนให้รอบคอบ ต้อง เตรียมการตั้งแต่บัดนี้ หากไม่ท่วมก็โชคดี”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เท่าที่ดูปริมาณน้ำมีเวลาอีก 2 วัน ถ้าปริมาณน้ำที่คลองรังสิตรักษาระดับนี้ไว้คงไม่ท่วม ตนไม่ได้บอกให้ทุกคนตื่นตระหนก แต่บอกให้รู้จักคิด ประเมินสถานการณ์ว่า จะเกิดอะไรขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้วเราจะต้องทำตัวอย่างไร ไม่อย่างนั้นจะโทษกันไปมา ไม่มีอะไรดีขึ้น นิคมฯทั้งสองแห่งถือว่าทำรายได้ให้ประเทศหลายแสนล้าน หากปิดทั้งสองนิคม ประชาชนจะเอาอะไรกิน ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน อยากให้ประชาชนเข้ามาช่วยทหาร เพราะทหารทำหลายที่แล้ว ซึ่งเป็นทหารชุดเดิมที่ย้ายจากโน่นมานี่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกประกาศพ.ร.บ.ป้องกันบรรทาสาธารณภัยปี 2550 มาตรา 31 นั้น คนไทยเป็นแบบนี้ เดี๋ยวก็ดีกัน เดี๋ยวก็พูดจากันรู้เรื่อง ประเด็นคือ กฎหมายมีตัวอย่างมากี่ครั้งแล้ว มีกฎหมายมากี่กฎหมายแล้ว บังคับใช้กฎหมายได้หรือไม่ และเดือดร้อนทหารไหม ถ้ามีผลกระทบอะไรต่างๆที่ขัดแย้งกัน ตำรวจต้องดำเนินการ หากตำรวจดำเนินการไม่ได้ต้องให้ฝ่ายปกครองดำเนินการ ทหารไม่มีอำนาจในการดำเนินการ ทหารมีกฎหมายพิเศษของทหาร มีกฎการใช้กำลังและกฎการเคลื่อนย้าย มันต้องเป็นพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรืออะไรก็ว่ากันไป แต่ตนไม่ได้เป็นคนเรียกร้องพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเรียกร้องทำไม แต่กฎหมายมีของมันอยู่แล้วก็ทำไป มาตรา 31 นายกฯมีอำนาจเต็มที่ ทุกกระทรวง ทบวงกรม จะต้องให้ความร่วมมือ ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็มีบทลงโทษต้องไปเปิดดูกฎหมายพ.ร.บ.การป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน


บางระกำหน่วงชะลอน้ำ ท่วมไปสมทบภาคกลางกทม.
22 ตค. 2554 13:04 น. 

นายบุญยิ่ง คุ้มสุพรรณ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้ยังมีพื้นที่ที่ยังประกาศเป็นเขตภัยพิบัติอุทกภัยเหลืออยู่เพียง 4 อำเภอ 25 ตำบล 192 หมู่บ้าน พื้นที่เกษตรเสียหาย 6 แสนไร่ ในพื้นที่ อำเภอพรหมพิราม บางระกำ บางกระทุ่ม และเมืองพิษณุโลก โดยระดับน้ำยังคงท่วมสูง กว่า 1 เมตร และเริ่มลดระดับลงหลังแม่น้ำน่านลดต่ำกว่าตลิ่งเกือบ 5 เมตร คาดว่าจะใช้เวลาน้ำจะลดลงเข้าสู่ปกติประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน มูลค่าความเสียหายของจังหวัดพิษณุโลกคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท
นายบุญยิ่ง กล่าวว่า เฉพาะอำเภอบางระกำ ระดับน้ำอาจลดลงช้าที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ที่ทางชลประทานพิษณุโลกได้ระบายน้ำไปตามทุ่งนาเพื่อชะลอการไหลลงของน้ำไม่ให้ไหลไปซ้ำเติมพื้นที่ทางภาคกลางและกรุงเทพมหานคร โดยในช่วงสัปดาห์หน้า ทางชลประทานจะสอบถามข้อมูลจาก จ.พิจิตรและนครสวรรค์ เพื่อเริ่มระบายแม่น้ำยมลงแม่น้ำน่าน ว่าจะส่งผลให้มีระดับน้ำไปซ้ำเติมทางจังหวัดทางตอนล่าง
ส่วนการช่วยเหลือช่วงนี้ ได้สำรวจถนนที่ถูกน้ำท่วมกว่า 200 สาย เพื่อกระจายของบประมาณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการซ่อมแซม บำรุงรักษา ซึ่งจะใช้เงินกว่า 100 ล้านบาท นำรองเท้าบู๊ช 3,000 คู่ และเรือ ส่งไปช่วยในพื้นทั้งที่ 4 อำเภอที่ยังประสบภัย
จากการตรวจสอบดูสภาพระดับแม่น้ำน่าน ในพื้นที่เขตเทศบาลนครพิษณุโลก พบว่าระดับน้ำน่านลดลงอย่างชัดเจน ผิดจากช่วงที่น้ำน่านเอ่อไหลล้นตลิ่ง ซึ่งแตกต่างกันชัดเจน ทางเทศบาลได้ให้คนงานทำความสะอาดและเก็บดินโคลนที่ไหลมากับน้ำกองทับถมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณทางคอนกรีต ซึ่งเป็นทางวิ่งออกกำลังกายติดกับแม่น้ำน่านที่ถูกน้ำท่วม นอกจากนั้นต้นไม้ดอกไม้ประดับถูกน้ำท่วมยืนต้นตายไปเป็นจำนวนมากได้ทำการสำรวจก่อนทำการฟื้นฟูให้กับมาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนเขตเมืองพิษณุโลกเหมือนเดิมหลังจากถูกน้ำท่วมนานถึง 3 เดือน


"ผู้ว่ากทม."ห่วง4จุดเสี่ยง น้ำเพิ่มระดับ
22 ตค. 2554 12:36 น. 

เวลา 10.20 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวสถานการณ์น้ำท่วมภายหลังการประชุมหารือกับคณะผู้บริหารกทม. ในเวลา 09.00 น. โดยมีนายพระนาย สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวง มหาดไทย(มท.)และนายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) เข้าร่วมประชุมหารือ ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ออก พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งเนื้อหาของ พรบ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญสำหรับการทำงานของ กทม. คือ ให้กทม.เปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่เพื่อให้กรมชลประทานทำการผันน้ำเข้าสู่ประตูระบายน้ำของ กทม. และผันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า แต่การดำเนินการกทม.ต้องคำนึงถึงสถานการณ์เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้แจ้งให้ กทม.เปิดระตูน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ให้พิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งมาตรการดังกล่าว ก็เป็นนโยบายที่ กทม.ก็ดำเนินการมาโดยตลอด เนื่องจากประตูระบายน้ำเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำในคลองของ กทม.โดยเฉพาะในเวลาฝนตกในปริมาณมากตั้งแต่ 100 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงในปี 1 - 2 วัน วันนี้ก็กทม.ก็เปิดประตูระบายน้ำอย่างเต็มที่
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่าในส่วนของประตูระบายน้ำสามเสนนั้น ยังมีการเข้าใจผิดกันมากว่า กทม.ไม่เปิดน้ำลงคลองทำให้ปริมาณน้ำในคลองประปาล้นออกมาทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งในวันนี้ที่ประชุมที่มี ผู้ว่า ปกน.ก็ระบุว่ายอมรับว่าประตูระบายน้ำดังกล่าวเป็นของ กปน.ที่ไม่ได้เปิดมานานจึงเปิดไม่ออก จึงประสานมายัง กทม.ให้ช่วยเปิดประตูดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกปน.ได้ยืนยันว่า ภายในวันนี้จะไม่มีการรับน้ำเหนือเพิ่มเข้ามาในคลองประปาอีก อีกทั้งจากนี้จะมีการประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจปริมาณน้ำที่เข้ามาว่ามีปริมาณเท่าใด และจะดำเนินการอย่างไรในการลดปริมาณน้ำให้ได้เร็วขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
" ผมตนขอย้ำว่าประตูระบายน้ำดังกล่าวไม่ใช่ของกทม. จึงขอให้คนที่วิพากษ์วิจารณ์หาข้อมูลที่ถูกต้องด้วย หากจะด่าผมอย่างไรก็ไม่ว่า แต่อย่าด่า กทม.ซึ่งเป็นองค์กร ที่ทำงานดูแลประชาชน รวมถึงข้าราชการและลูกจ้างที่ทำงานหนักมาตลอด " ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯวันนี้ ยังอยู่ในสภาวะปกติ แต่ยังมีพื้นที่ที่มีปัญหาและต้องเฝ้าระวังคือ 1.ระดับน้ำในคลองหกวาสายล่าง ที่เขตสายไหม ที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 9 ซม. 2.พื้นที่ด้านตะวันออกที่ระดับน้ำยังท่วมขัง และบางพื้นที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 3.ฝั่งธนฯที่คลองมหาสวัสดิ์ ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และ 4.ในพื้นที่บริเวณถนนพหลโยธิน ตัดกับคลองรังสิต ที่มีปริมาณน้ำเข้ามาถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติแล้ว ซึ่งตนจะลงพื้นที่เขตดอนเมืองเพื่อติดตามสถานการณ์ในช่วงบ่ายวันนี้เวลา 13.30 น.


กปน.แถลง ปิดไซฟ่อนรังสิตได้หมดคืนนี้ คุมน้ำคลองประชาได้
22 ตค. 2554 11:38 น. 

นายเจริญ ภัสระ ผู้ว่าการประปานครหลวง ร่วมแถลงการณ์ ศปภ. ว่า ขณะนี้ควบคุมปริมาณน้ำที่เข้าคลองประปาได้แล้ว90% เกิดจากประตูท่อลอดที่เรียกว่าไซฟ่อนที่คลองรังสิตนั้นปิดยาก แต่ช่องมีปัญหาคือช่องที่5-6 เมื่อวานปิดช่องที่ 5 ได้แล้ว กำลังจะปิดช่องที่ คาดว่า 2ทุ่มคืนนี้จะปิดได้ 100% มีผลทำให้ระดับน้ำคลองประปาเวลา6.00น.ลดลงจากเมื่อคืน 4 ซม. ได้รับความร่วมมือจากกทม.ระบายน้ำผ่านคลองสามเสน คลองบางซื่อ และคลองบางเขนใหม่ ทำให้น้ำลดลงไป ทำให้น้ำทรงตัวอยู่และวันนี้เราจะลดระดับคลองประปาลงได้อีก
สำหรับเรื่องคุณภาพน้ำประปา ขณะนี้เรายังผลิตน้ำประปาอย่างปกติอยู่ ส่วนปัญหากลิ่นอาจมีกลิ่นผงถ่านบ้างรวมทั้งสีเหลืองเพิ่มขึ้น เราก็ได้ใช้สารพิเศษแก้ปัญหาแล้วขณะนี้ ยังดื่มได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก


ประชาชนผวาน้ำประปาสีขุ่น
22 ตค. 2554 11:33 น. 

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในเขตตำบลท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นตำบลที่มีชุมชนอาศัยอยู่ติดกับคลองประปาที่กำลังเกิดปัญหาน้ำล้นในคลองว่า ตั้งแต่เมื่อวานนี้มาจนถึงเช้าวันนี้ได้สังเกตพบว่าน้ำประปาที่เปิดจากก็อกน้ำมาใช้เริ่มมีสีขุ่นขึ้น โดยสังเกตได้ง่าย ๆ จากการที่นำภาชนะมารองใส่น้ำที่เปิดจากก็อกน้ำไว้ ก็จะพบว่าน้ำมีสีขุ่นขึ้น ผิดจากช่วงก่อน ๆ ตอนที่ยังไม่มีสถานการณ์น้ำจากจังหวัดปทุมธานีไหลทะลักลงคลองส่งน้ำดิบในคลองประปา ทำให้ตอนนี้เกิดความไม่มั่นใจว่า น้ำประปาที่กำลังใช้อยู่ทุกวันนี้จะสามารถนำมาดื่มกินได้อย่างปลอดภัย ประกอบกับในช่วงนี้การหาซื้อน้ำดื่มเพื่อมาบริโภคเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเกิดการตื่นตัวกักตุนน้ำดื่มเป็นจำนวนมาก จนทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดขาดแคลน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงต้องเตรียมภาชนะขวด กระป๋อง ถัง หันไปพึ่งพาซื้อน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญแทน เพราะมั่นใจว่ายังสามารถนำมาบริโภคได้มั่นใจกว่าที่จะใช่น้ำประปาจากก็อกมาดื่มกินโดยไม่ผ่านการกรอง ส่วนน้ำประปาในช่วงนี้จะใช้เพียงซักผ้ากับล้านจานและอาบเพียงเท่านั้น อยากให้ทางการประปาเร่งตรวจสอบสาเหตุดังกล่าวด้วย เพื่อคลายความกังวลและสงสัยให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำ


"นายกฯ"เตือนคนกรุงของบกขึ้นสูง 1 เมตร
22 ตค. 2554 10:37 น. 

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ" รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน " ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในเวลานี้ ว่า ตนขอฝากประชาชนอยากให้ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารในช่วงวันหยุด เตรียมการย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงอย่างน้อย 1 เมตร และดูแลระบบไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์และสิ่งของมีค่า แต่ทั้งนี้ถือเป็นการเตรียมตัวอย่างรอบคอบ โดยไม่ประมาท แต่อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์จะชี้แจงให้ทราบข่าวเป็นระยะ ด้านการดูแลประชาชนในศูนย์พักพิง ระหว่างรอน้ำลดก็มีจัดศูนย์พักพิงทุกจังหวัดที่มีน้ำท่วม วันนี้ รัฐบาลมีศูนย์ 1,743 แห่งซึ่งสามารถรองรับได้ 8 แสนคน ขณะนี้มีผู้เข้าอยู่แล้วประมาณ 113,369 คน โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้จาก 1111 กด 5 โดยในช่วง 4 - 6 สัปดาห์ ระหว่างรอน้ำลดนั้นรัฐบาลได้เตรียมปรับแผนให้ดีขึ้น มีการเข้าดำเนินการให้ประชาชนที่พักพิงเกิดการเรียนรู้ และจ้างงาน เสมือนเป็นชุมชนใหม่ ซึ่งอาจมีการฝึกทักษะ ประยุกต์ซ่อมแซมสิ่งของ หรือสามารถปรับใช้เป็นอาชีพใหม่หลังน้ำลด กลุ่มแม่บ้านก็มีกรมแรงงานฝึกอาชีพให้
นายกฯ ยังกล่าวถึงแผนการฟื้นฟูและเยียวยา ว่า แผนฟื้นฟูในการช่วยเหลือมีการเตรียมตัวเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเยียวยาความเสียหายให้พี่น้องโดยเร็ว มีการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการ รายใหญ่ หรือย่อย รัฐบาลจะบรรเทาความเสียหายที่กระทบทั้งจิตใจ และธุรกิจของประชาชน ส่วนราคาของผู้อุปโภค รัฐบาลยืนยันว่าจะมีการควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินปกติ และให้แน่ใจว่ามีพอเพียง และทั่วถึง
" อย่างไรก็ตามสำหรับในช่วงวันที่ 28 - 30 ตุลาคมนี้จะมีน้ำทะเลสูงขึ้น ดิฉันได้สั่งการให้กรมชลประทานมีการปฎิบัติการทั้งลดระบายน้ำ ควบคุมประตูน้ำ ปิดเขื่อนทางผ่านของน้ำ ควบคุมระดับน้ำทะเลที่จะหนุนเข้ามาได้ การเตรียมตัวใดๆต้องไม่ตื่นตระหนก ไม่ประมาท และมีสติ ต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ หลายพื้นที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมกันนี้ยังได้ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่รวมพลังแก้ไขปัญหา และขอให้ทุกคนอดทนร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคให้ได้ " นายกฯ กล่าว


"ยิ่งลักษณ์"ชี้เหตุใช้พรบ. เพราะอยากให้การทำงานรวดเร็ว
22 ตค. 2554 10:36 น. 

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ" รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน " ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในเวลานี้ว่า ตอนนี้น้ำเริ่มเข้าใกล้กรุงเทพมหานครมากขึ้นแล้ว ดังนั้น รัฐบาลย้ำว่านโยบายเรื่องการบริหารน้ำเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเลือกในการบริหารสถานที่สำคัญ อาทิ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ เขตพระราชฐาน โรงพยาบาล พื้นที่ทางเศรษฐกิจ เส้นทางการขนส่ง สนามบิน และแหล่งผลิตสาธารณูปโภค ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสถานการณ์น้ำเวลานี้ยังมีมวลน้ำก้อนใหญ่จากทางเหนือซึ่งต้องเร่งระบายน้ำลงทะเลให้มากที่สุด แต่ธรรมชาติของน้ำนั้นจะไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ซึ่งเราหากไปปิดกั้นจะทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ เห็นได้จากการไหลของน้ำที่ผ่านมาทำแนวพนังกั้นน้ำพังลง ซึ่งการตั้งพนังเป็นเพียงการชลอน้ำ ไม่สามารถกั้นน้ำได้อย่างถาวร หรือบางครั้งปริมาณน้ำรวมกับน้ำจากฝนตกก็ทำให้น้ำเอ่อล้นมาในพนังกั้น สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์หนักมีผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินของประเทศ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า การเร่งระบายน้ำและการบรรเทาต้องจัดการร่วมกัน ซึ่งมีความเกี่ยวพันหลายพื้นที่ จึงจำเป็นต้องประกาศอำนาจควบคุมและกำกับการป้องกันและบรรเทาตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยนายกฯใช้อำนาจตามมาตรา 31 ซึ่งศปภ.ยังเป็นศูนย์กลาง แต่ทั้งนี้เป็นไปเพื่อเป็นช่วยให้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้อง สัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์ และให้ดูแลอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว สำหรับพื้นที่กทม.อยู่ทางด้านใต้ติดกับทะเล จึงจำเป็นต้องเป็นพื้นที่ทางผ่าน จึงต้องเปิดประตูระบายน้ำร่วมกันทางกทม.ผันน้ำจากทางเหนือลงทะเลโดยเร็วที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงระดับน้ำที่เหมาะสม ไม่สร้างความเดือดร้อน ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเหมาะกับสถานการณ์ โดยรัฐบาลมีแผนรองรับกรณีเกิดผลกระทบดังกล่าวด้วย


ผอ.ดอนเมืองรับน้ำท่วม30%ของพื้นที่เขต
22 ตค. 2554 08:30 น. 

นายภูมิพัฒน์ ดำรงเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง ให้สัมภาษณ์เก็บตกเนชั่น ถึงสถานการณ์น้ำ ว่า สนามบินดอนเมืองไม่มีปัญหาเลย การท่าเค้าดูแลของเค้าได้อยู่แล้ว สนามบินดอนเมืงอเป็นที่สูงมากอยู่แล้ว และทางการท่าก็มีแผนรับมือของเค้าเองอยู่แล้ว ส่วนที่ท่วมคือที่ใกล้คลองประปา น้ำยังคงเอ่อขึ้นมาสูงขึ้นใกล้คลองก็สูง น้ำท่วมใกล้จะ 30% ของพื้นที่เขตแล้ว ซึ่งบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ ต้องย้ายไปอยู่ศุนย์พักพิง โดยโรงเรียนเวฬุวนาราม มีคนอยู่เยอะที่สุด เพราะน้ำก็เริ่มท่วมแล้ว
"โซนหลังวัดไผ่เขียวหรือถนนเวฬุวนาราม เป็นพื้นที่ต่ำสุด น้ำสูง50-60ซม.มีการตัดไฟแล้ว ซึ่งน้ำยังมีโอกาสที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ น้ำในคลองประปาก็จะมาเชื่อมที่คลองเปรมประชากรก็เริ่มเอ่อล้นเข้ามาบางส่วน จนต้อนนี้น้ำเป็นระดับเดียวกันแล้ว ซึ่งคลองเปรมประชากรเค้าก็จะมีสถานีสูบน้ำลดระดับอยู่ซึ่งก็อยู่ตรงบางซื่อ ซึ่งคลองเปรมบางส่วนก็มีพนังกั้นน้ำซึ่งแล้วแต่ว่าพื้นที่เขตใดมีคันกั้นสูงต่ำไม่เท่ากัน" นายภูมิพัฒน์ กล่าว


"ชูวิทย์"อัดรบ.แก้ปัญหาน้ำเละ
22 ตค. 2554 08:01 น. 

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ประธานสภาฯสั่งงดการประชุมสภาฯ ตนได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัด อาทิ นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี อยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี ส่วน จ.สิงห์บุรี ตนเข้าไปไม่ได้เพราะน้ำท่วมสูงไม่มีเรือเข้า พบว่า ที่จ.สุพรรณบุรี น้ำท่วมน้อยที่สุดสภาพน้ำเป็นปกติทุกอย่าง คือ ท่วมแค่บางอำเภอที่เป็นรอยต่อกับจังหวัดอื่นๆ
หัวหน้าพรรครักประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่พบเจอหลังนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายในจังหวัดภาคกลางพบว่า จังหวัดต่างๆไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ ให้ชาวบ้านหรือผู้นำชุมชนจัดการกันเอง ในลักษณะต่างคนต่างเอาตัวรอด คนที่ช่วยเหลือตัวเองได้ก็หนีมาอยู่บนริมถนน คนใจบุญเอาของไปแจกก็ได้แต่ในเขตเมืองและคนที่อยู่ริมถนน แต่คนที่อยู่รอบนอกถูกตัดขาด ไม่มีเรือออกไปยังมีตกค้างอีกเป็นจำนวนเรือนหมื่นเรือนพัน
หัวหน้าพรรครักประเทศ กล่าวต่อว่า ที่แย่ที่สุด คือ การบริหารงานของศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่วันนี้พี่น้องประชาชนไม่ให้ความเชื่อถือ เพราะบอกว่าน้ำไม่ท่วมแต่ก็ท่วมทุกที่ ข่าวสารที่ออกมาของทางการประชาชนไม่เชื่อถือเลย ต้องบอกดังๆว่าน้ำไม่ใช่ควัน ไม่ใช่ก๊าซที่จะสลายไปในอากาศ แต่กลับไม่มีการแจ้งเตือนเช่น ที่ย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่งหากจัดการบริหารน้ำอย่างจริงจังจะสามารถป้องกันความเสียหายได้มากกว่านี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของความล้มเหลวในการบริหารจัดการชของศูนย์ดังกล่าว คือ การปล่อยให้น้ำไหลลงคลองประปา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ไว้ใช้อุปโภค บริโภค ในกทม.และปริมณฑล และการจอดรถตามสะพานข้ามแยกและ ทางด่วนต่างๆ ก็สะท้อนความล้มเหลวในการจัดการบริหารของรัฐที่รับแผนงานมาปฏิบัติ ตนไปที่ไหนก็มีคนถามว่า กรุงเทพฯท่วมหรือไม่ แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่าท่วมแน่ๆ วันนี้ชาวบ้านหว่าเว่ไร้ที่พึ่ง สังคมจึงอยู่กันเอาแบบตัวรอด เพราะรัฐบาลล้มเหลวในการแก้ไปหา ทั้งแผนเผชิญเหตุ แผนรับรอง แผนอพยพ แผนช่วยเหลือเอาคนออกนอกพื้นที่ หรือแผนดูแลรักษาความปลอดภัยที่จะให้ความมั่นใจต่อชาวบ้านในการถอนตัวออกจากบ้านเรือน
นายชูวิทย์ กล่าวยังต่อว่า อย่างในกทม.วันนี้ก็มีการเล่นการเมืองผ่านสื่อ โดยเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เข้ามานั่งประชุม และออกภาพผ่านสื่อเพียงแค่หวังผล ในคะแนนนิยมจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จึงอยากจะเตือนว่า นักการเมืองที่ดีต้องอย่าเอาชาวบ้านเป็นตัวประกันเพื่อเล่นการเมือง เอาคนไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีประสบการณ์มาทำงานผ่านสื่อเพื่อสร้างภาพ สร้างฐานเสียงทางการเมืองให้ตัวเอง


"ยิ่งลักษณ์"ปรับทัพศปภ.ดึงอำนาจจาก"ประชา-สุขุมพันธุ์"
22 ตค. 2554 07:40 น. 

แหล่งข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 31 ของพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพ.ศ.2550 ได้มีการเตรียมปรับโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.)ใหม่ โดยอาจจะเพิ่มคณะทำงานเข้ามาร่วมทำงานมากขึ้นเพื่อสอดรอบกับส่วนราชการที่จะต้องเข้ามาทำหน้าที่ตามมาตรา 31 รวมไปถึงส่วนราชการของกรุงเทพมหานครด้วย
สิ่งสำคัญของการประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ นั้น คือการปรับการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่ จากเดิมการบริหารสถานการณ์ที่ผ่านมาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 11 ของพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะผู้คุมอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหารซึ่งในส่วนของการบริหารสถานการณ์นายกฯได้ใช้อำนาจผ่านพล.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมในฐานะผอ.ศปภ.ปรากฎว่าที่ผ่านมาการทำงานเกิดติดขัด ในเรื่องของการประสานงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับกทม.จากกรณีที่ทางศปภ.ขอให้กทม.เปิดประตูระบายน้ำ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักการระบายน้ำกทม. ดังนั้นการปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ เพื่อเป็นการดึงอำนจการตัดสินใจมาไว้ที่นายกฯเพียงคนเดียว โดยไม่ต้องใช้อำนาจผ่านพล.ต.อ.ประชา ในระหว่างเกิดวิกฤตน้ำท่วม

ขอขอบคุณ เนชั่นทันข่าว